Posted on

บทสะท้อนผ่านสายตาจากการทดลองลงพื้นที่สัมผัสย่านพัฒน์พงษ์ไม่มากแต่ก็ไม่น้อย

เนรัญธิญา สรรพประเสริฐ (ผู้ช่วยวิจัยโครงการ)

“ไปทำไมพัฒน์พงษ์”

“พี่ก็ไม่รู้ทางแถวนี้หรอก พี่ไม่ใช่คนแบบนั้น”

“ตอนเด็ก ๆ เนี่ย แม่พี่ห้ามเลยนะ ว่าเป็นผู้หญิง อย่าเข้ามาพัฒน์พงษ์”

 

ร้อยพันคำกล่าวเกี่ยวกับตำนานย่านพัฒน์พงษ์ไม่ได้ชวนทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกดีแม้แต่นิดในการเลือกก้าวเข้ามาที่นี่

ทั้งท้าทายความเป็นหญิงและกฎเกณฑ์ของสังคม..

.

.

“พัฒน์พงษ์” ในฐานะย่านสถานบันเทิงหลักของกรุงเทพมหานครไม่ได้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีนักต่อตัวมันเองและผู้คนที่ ‘อยู่’ ณ พื้นที่ตรงนั้น อันที่จริงภาพจำของข้าพเจ้าต่อพัฒน์พงษ์เกือบเป็นศูนย์ หากไม่นับว่า เนื้อเพลงท่อนนึงในเพลง Made In Thailand ของวงคาราบาวคือความทรงจำ

ลักษณะของพื้นที่พัฒน์พงษ์คือซอยเล็ก ๆ สองซอยขนานกัน แต่ตั้งฉากกับถนนสีลมและถนนสุรวงศ์ ในเวลากลางวัน พัฒน์พงษ์เงียบสงบ ตึกรามแข็งทื่อดูเหมือนไม่มีชีวิต พอยามบ่ายเสียงเริ่มมา โดยเฉพาะเสียงจากการตั้งตลาดไนท์มาร์เก็ตที่ซอยหนึ่ง

หากในยามพระอาทิตย์ตกดิน พัฒน์พงษ์จึงตื่นเต็มตา แสงสีเสียงเปิดพรึ่บ พร้อมต้อนรับ ‘ใคร’ ก็ตามที่จะเข้าไป แต่อย่างที่บอก ไม่ใช่ทุกคนที่เต็มใจจะก้าวเข้าไปที่พัฒน์พงษ์ มันเป็นเพราะภาพจำและวาทกรรมของสถานที่แห่งนั้นที่กล่อมเกลาให้ผู้คนทั่วไปคิดว่านั่นเป็นสถานที่ที่ไม่ควรก้าวเข้าไปหากเป็น ‘คนดีดี’ พัฒน์พงษ์จึงคล้ายเมืองลับแล ที่มีแต่คนคุ้นเคย (กับสถานที่) เท่านั้นที่จะเดินเข้าไปในเมืองนี้ได้อย่างสบายใจ

แต่ความคิดและภาพจำเหล่านั้นก็หายไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อฉัน ในฐานะผู้หญิงคนนึง ได้ก้าวเข้าไป ณ สถานที่แห่งนี้ 

จุดเริ่มต้นของย่านพัฒน์พงษ์มาจากการที่หลวงอุดมพัฒน์พงษ์ ลูกชายหลวงพัฒน์พงษ์ไปเรียนที่ต่างประเทศและได้คบหากับเพื่อนสนิทที่เป็น CIA ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกลับมากรุงเทพฯ แล้วนั้นจึงได้ชักชวนเพื่อนของตนมาเปิด ‘ฐานทัพลับ’ ของ CIA ที่อาคารพานิชย์ซอยพัฒน์พงษ์ 1 หลังจากนั้นเมื่อคราวสงครามเย็น จึงได้ก่อเกิดวัฒนธรรม ‘บาร์เบียร์’ ที่พัฒน์พงษ์ขึ้น จากฐานทัพและทหารอเมริกันในยุคสงครามเย็น แล้วก็กลายเป็นย่านสถานบันเทิงเรื่อยมา .. 

ตึกสีส้มและบาร์มาดริด CIA Safehouse

แต่ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อก้าวเข้าไปที่พัฒน์พงษ์แล้วศึกษาอย่างพินิจพิเคราะห์ก็พบว่าพัฒน์พงษ์คือสถานที่แห่ง ‘ชีวิต’ ที่แท้จริง กล่าวคือ มันอาจเปรียบเป็นกรุงเทพฯ ขนาดย่อม ที่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดเข้ามาใช้ชีวิต ตั้งถิ่นฐาน ทำมาหากิน พักผ่อน หรืออาจจะอยู่จนชั่วชีวิต ณ พื้นที่แห่งนี้ 

พัฒน์พงษ์ใช้ชีวิตในตัวมันเองเหมือนที่มนุษย์เราเป็น มีหลายมิติให้คนเราเลือกมอง ความเป็นชีวิตของพัฒน์พงษ์คือการที่มันไม่เคยหลับไหล ผู้คนมากมายผัดเปลี่ยนเวียนหมุน กลางคืนไม่ยอมหลับ กลางวันไม่ยอมนอน หากมองเป็นไทม์ไลน์ตารางเวลาชีวิต พัฒน์พงษ์ในตอนเช้าจะเป็นพื้นที่ของคนวัยทำงานทั้งอายุยังน้อยไปจนถึงวัยกลางคนที่มาทำงานอยู่ที่นี่ เช่น กลางวันมีผู้คนที่ทำงานที่ออฟฟิศทั้งที่เกี่ยวข้องกับพัฒน์พงษ์บ้าง ไม่เกี่ยวบ้าง เพราะแต่ดั้งเดิมนั้นย่านพัฒน์พงษ์เกิดจากความตั้งใจว่าอยากให้เป็นย่านพานิชยกรรมแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร และมันก็เป็นเช่นนั้น แต่ออฟฟิศสมัยแรก เช่น IBM SHELL หรือบริษัทท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็หายไปตามกาลเวลา ตึกออฟฟิศในปัจจุบันก็อาจจะเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ องค์กรศาสนา ร้านนวด ร้านกระเป๋านารายา ร้านขายของฝาก หรือองค์กรบริการเพื่อสังคมอย่างเช่น SWING ( Service Workers IN Group Foundation) หรือมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ที่เป็นทั้งที่ทำการองค์กรและคลินิกตรวจสุขภาพให้กับคนที่เป็นพนักงานบริการในย่านพัฒน์พงษ์

ช่วงที่ไนท์มาร์เก็ตเพิ่งเริ่มตั้ง

นอกจากออฟฟิศต่าง ๆ ผู้คนไม่น้อยอาศัยอยู่ในย่านพัฒน์พงษ์ จากการสอบถามพบว่าที่ชั้น 5 ณ ตึกหนึ่งได้แบ่งเป็นห้องเช่าทั้งตึก เป็นที่พักอาศัย อยู่กินเป็นครอบครัว หรือแม้แต่ในตึกอื่น ๆ พัฒน์พงษ์มีทั้งร้านอาหารตามสั่งที่แอบอยู่ตรงมุมชั้นสองของตึก ร้านทำผมเล็ก ๆ 2-3 แห่ง หากเดินมาตอนบ่ายหน่อย ๆ ก็อาจพบคุณลุงออกกำลังกายอยู่ที่ฟุตปาธเสียด้วยซ้ำ คุณลุงเหล่านี้เป็นทีมงานตลาดไนท์มาร์เก็ต ที่เริ่มตั้งแผงกันตอนบ่ายแก่ ๆ และจะเริ่มขายกันตอนพลบค่ำ เสียงกร๊องแกร๊งของเหล็กกระทบจึงดังก้องไปทั่วบริเวณ ในขณะเดียวกันเพื่อนพนักงานบริการก็อาจเริ่มเดินทางเข้ามาเสริมสวยเพื่อเตรียมตัวทำงานของเขา พร้อม ๆ กับที่ลูกหลานของคนที่อาศัยในย่านพัฒน์พงศ์ เดินทางกลับจากโรงเรียน

เมื่อตกกลางค่ำกลางคืนในขณะที่พนักงานออฟฟิศเดินทางกลับบ้าน แต่ตลาดไนท์มาร์เก็ตตั้งขายเต็มที่ ร้านบาร์ต่าง ๆ เริ่มเปิดไฟแสงสีตามป้าย เสียงเพลงจากคลับบาร์ต่าง ๆ เริ่มต้นขึ้นเป็นจังหวะให้เราพร้อมขยับ เหมือนเป็นการบอกว่าพัฒน์พงษ์ตื่นขึ้นเต็มตาในเวลานี้ ร้านลูกชิ้นหน้าบาร์แห่งหนึ่งเริ่มขายตอนหกโมงเย็นไปจนถึงตีหนึ่งตีสอง คนที่มาซื้อก็เป็นคนที่ทำงานในบริเวณเพื่อหาอะไรรองท้องก่อนทำงานในเวลากลางคืน นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเข้ามาบ้าง ส่วนเพื่อน ๆ พนังกานบริการแต่งองค์ทรงเครื่องพร้อมแล้วก็ออกมาเรียกแขกเพื่อให้เดินเข้าบาร์ของตน ดังนั้นนอกจากเสียงเพลงก็ยังมีเรียกเรียกลูกค้า และคนทำงานกลางคืนในหน้าที่อื่น ๆ จ้อกแจ้กจอแจ

พัฒน์พงษ์จึงมีชีวิตทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นพื้นที่ที่ไม่เคยหลับไหล แถมยังปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามกาลเวลา และบริบทของสังคม ที่แม้ว่าเศรษฐกิจจะซบเซา (ผู้คนใน) พัฒน์พงษ์ก็ยังต้องปรับตัวตามไป หากนักท่องเที่ยวบาร์เริ่มหาย การนำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในพื้นที่เพื่อแต่งเติมชีวิตให้มีสีสันมากขึ้นก็จำเป็นจะต้องมี

กล่าวคือ นอกเหนือไปจากที่พัฒน์พงษ์เป็นพื้นที่แห่งการทำงานทั้งกลางวันกลางคืน หากเดินมาที่ซอย 2 ตรงข้ามห้าง Foodland ก็จะมี Patpong Museum  ทำหน้าที่เป็นส่วนที่นำเสนอข้อมูล เรื่องเล่าของพื้นที่พัฒน์พงษ์ว่ามีประวัติความเป็นมาและพลวัติอย่างไร ในเชิงประวัติศาสตร์และศิลปะที่เชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาค้นหาความเป็นจริงของย่านพัฒน์พงษ์ได้อย่างน่าสนใจ และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ยังมีงาน Art Gallery ที่ชั้นสามของเฟติชบาร์ในพัฒน์พงษ์ซอยสองอีกด้วย 

ด้านในของ Patpong Museum
Paradise GoGo Bar presented by Tawan Wattuya
01-07 March 2020 @Patpong Museum

Click this link to Art Gallery by K.Tawan

สิ่งที่ข้าพเจ้ากำลังจะบอกก็คือ เมื่อได้พบเห็น รับประสบการณ์ และสัมผัสต่อสถานที่หนึ่ง ๆ ด้วยใจเปิดกว้าง ไม่อคติ และทำความเข้าใจกับมันแล้ว พัฒน์พงษ์มีหลากหลายมิติ เป็นพื้นที่ที่มีชีวิตในตัวมันเองและยิ่งทำความรู้จักและทำตัวคุ้นเคยกับพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ยิ่งค้นพบว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจราวกับกำลังศึกษาชีวิตของคนคนนึงที่มีเส้นกราฟชีวิตขึ้น ๆ ลง ๆ ทว่า เป็นอมตะ  (“พัฒน์พงษ์ไม่มีวันตาย พัฒน์พงษ์เป็นตำนาน” – คนในพื้นที่พูดกันมาแบบนั้น) ผู้คนมากมายยังคงใช้พื้นที่นี้ในการอยู่อาศัย ทำมาหากินและใช้ชีวิต จนสร้างชีวิตของพัฒน์พงษ์ขึ้นมา

หากปรับมุมมองอีกครั้ง ถ้ามองเข้าไปดี ๆ พัฒน์พงษ์อาจเป็นประวัติศาสตร์ในตัวมันเองอย่างที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปว่ามันแปรผันไปตามกาลเวลา เป็นพื้นที่ที่แบกรับและโอบอุ้มการเดินทาง ท่องเที่ยว พักผ่อน รวมไปถึงชะตาชีวิตของผู้คนที่สะท้อนเศรษฐกิจสังคมโดยรวม

และความคิดของ ‘ฉัน’ ก็เปลี่ยนไป เมื่อทำความเข้าใจพัฒน์พงษ์เสียใหม่

การเข้ามาในพื้นที่นี้ ในฐานะผู้หญิงคนนึงไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าอาย เพราะพัฒน์พงษ์เป็นมากกว่าที่พวกเราเคยคิด เป็นมากกว่าการเป็น ‘สถานบันเทิง’ เป็นมากกว่า ‘แหล่งอโคจร’ แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งการใช้ชีวิต พื้นที่แห่งการทำงานทั้งการวันกลางคืน พื้นที่แห่งศิลปะ วิถีชีวิต ความเจ็บป่วย หรืออาจเป็นพื้นที่ของการลืมตาอ้าปากสร้างชีวิตใหม่ในประเทศแห่งนี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *